คำถาม : หนูกลัวความตาย กลัวจะเสียคนที่รักทุกคนไป กลัวจะไม่ได้เจอเขาอีก หนูเป็นแบบนี้มาเกือบปีแล้ว บางทีนอนไม่หลับ ไม่กล้านอนกลัวจะไม่ได้ตื่นมาอีก หนูทุกข์ใจมาก รบกวนพระอาจารย์แนะนำหนูด้วยค่ะ
พระอาจารย์ : คุณโยม ถามว่ากลัวแล้ว เราหนีความตายพ้นไหม ไม่พ้น มีใครในโลกนี้ไม่ต้องตายมีบ้างไหม ไม่มี ล้วนแล้วแต่ตายทุกคน จะเร็วจะช้าก็ต้องตาย เพราะฉะนั้น เราจะกลัวไปทำไม ในเมื่อกลัวก็ตายไม่กลัวก็ตาย แต่จะต้องตายแบบราชสีห์หรือตายแบบแมว ตายแบบราชสีห์ คือเผชิญต่อความตายอย่างอาจหาญ เพราะเราได้สร้างบุญเอาไว้อย่างเต็มที่ มั่นใจว่า ละจากโลกนี้ไปเราก็ไปดี แต่ถ้าเกิดต้องตายอย่างแมว คือร้องแง๊วๆ แล้วตายไป คือคนที่เอาแต่กลัว แต่ไม่ได้ทำความดี เผลอๆ ยังไปทำบาปซ้ำอีก อย่างนี้เขาจะกลัวมากเพราะเมื่อตายแล้วมีความรู้สึกตัวเองต้องแย่แน่ๆ
ดังนั้นจากนี้ไป รับรู้ความจริง บอกตัวเองเลยว่า ยังไงก็ต้องตายแน่นอน แล้วให้นึกถึงความตายบ่อยๆ ด้วย พระพุทธเจ้าพระองค์บอกให้นึกถึงความตายเข้าออกทุกลมหายใจเข้าออกด้วยซ้ำไป เพราะหายใจเข้าไม่ออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตาย แต่นึกบ่อยๆ อย่างมีหลักปฏิบัติ จะได้เป็นกำลังใจเตือนตัวเองให้ทำความดีด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้เราจะมีใบหน้าที่สดใส มีแววตาที่สุกสกาว แล้วก็สามารถอยู่ร่วมกับทุกคนที่เรารักได้อย่างมีความสุข แล้วนำทุกไปในหนทางที่ถูกต้องด้วย เจริญพร
คุณเคยนั่งคิดเล่นๆ ไหมว่า ช่วงสุดท้ายของชีวิต คุณอยากได้รับการดูแลแบบไหนจากคนที่คุณรัก หรือคนที่ดูแลคุณ?
คำตอบคือ บางคนอาจจะเคยนั่งคิด แต่สำหรับบางคนก็ยังมองว่า ความตาย เป็นเรื่องที่ยังไกลตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความตายมันอาจจะอยู่ใกล้ตัวของเรามากจนเรามองข้ามไป แล้วถ้าวันหนึ่งความตาย เกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก คุณจะรู้ได้อย่างไร และจะมีวิธีการดูเขาอย่างไร
ความทุกข์ทรมานและความเจ็บป่วย เมื่อเกิดขึ้นกับตนเองและคนที่เรารักมันมักจะทำลายความรู้สึก และบั่นทอนจิตใจของคนเราเสมอ หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า อยากเก่งอะไรก็ให้ฝึกฝน และทำสิ่งนั้นอยู่บ่อย ๆ แต่ฉันเชื่อว่า เรื่องของความตาย ต่อให้เราฝึกฝนหรือพบเจอความตายตรงหน้าบ่อยแค่ไหน ก็ไม่มีใครไม่รู้สึกเสียใจ และเคยชินกับการสูญเสียได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้า และรับมือกับมันอย่างมีการวางแผน เพื่อให้คนที่เรารักมีวิธีการดูแล และไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้
ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care ) ไม่ได้หมายความถึง การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงของการใกล้เสียชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว World Health Organization (WHO) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง การดูแลผู้ป่วย โดยมุ่งที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วย และครอบครัว ซึ่งเผชิญหน้ากับโรคที่คุกคามต่อชีวิต (Life – threatening illness) ไม่ว่าจะเป็นโรคใด โดยเน้นที่การดูแลรักษาอาการที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ทั้งอาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาทางจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณแบบองค์รวม ตลอดจนควรให้การรักษาดังกล่าวตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย (Terminal illness) จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต รวมถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยหลังจากการสูญเสีย
ดังนั้น มันจะดีกว่าไหมถ้าเราเริ่มจากการดูแล ใส่ใจ วางแผนร่วมกันกับคนที่เรารักและคนในครอบครัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าปล่อยให้วันนั้นมาถึงแล้ว กลับมานั่งเสียใจว่า ทำไมเราไม่ดูแลคนที่เรารักให้ดีกว่านี้ เราอาจจะเริ่มจากบทสนทนาง่ายๆ กับคนใกล้ตัว เช่น เวลาที่เราไปเยี่ยมคนรู้จักที่โรงพยาบาล หรือเห็นข่าวตามสื่อโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะความเจ็บป่วย ก็อาจจะมีการชักชวน หรือตั้งคำถามชวนคิดง่ายๆ
ขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างเช่น ด้านร่างกาย ถ้าวันหนึ่งคุณแม่ป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คุณแม่อยากให้หมอบอกคุณแม่เลยไหมว่าป่วยเป็นอะไร หรือจะให้บอกกับหนู คุณแม่อยากให้หนูดูแลคุณแม่อย่างไร อยากให้คุณหมอใส่สายให้อาหารไหม อยากให้เจาะคอไหม หรืออยากให้ทำการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ฯลฯ ด้านจิตใจ คุณแม่อยากให้หนูทำอะไรให้คุณแม่บ้าง หรือคุณแม่ชอบอะไร อยากให้เปิดเพลงที่คุณแม่ชอบให้ฟังไหมฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการสอบถามแบบนี้ทางการแพทย์เราเรียกวิธีนี้ว่า Advance care plan เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถวางแผน เผชิญหน้า และเตรียมรับมือกับความตายได้อย่างมีระเบียบ แบบแผน รวมถึงสามารถวางแผนร่วมกันกับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยได้ ตลอดจนยังสามารถช่วยให้ครอบครัวหรือผู้ดูแลมีแนวทางในการวางแผน และเล็งเห็นเป้าหมายของการรักษาไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ป่วย ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการทำให้เวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังต้องรับฟังความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยอีกด้วย
“ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เราสามารถเปลี่ยนจากความกลัว เป็นการยอมรับ เข้าใจ และใส่ใจคนที่เรารักได้”
เรียบเรียงโดย อาจารย์ราตรี เตชอยู่สุขเจริญ
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต
ปริศนาธรรม
หลายคนสงสัยว่าทำไมเวลาเรา จุดธูปเพื่อแสดงความเคารพศพ เราจุดธูปเพียงดอกเดียว
ธูป 1 ดอก คือ การเตือนสติว่าเวลาเกิด เรามาคนเดียวและเวลาตายเราก็ไปคนเดียวเมื่อธูปเริ่มติดไฟนั้น หมายความว่า ชีวิตในโลกนี้ของเราได้เริ่มต้นขึ้น
ธูปที่ถูกเผาคือช่วงเวลาชีวิตที่ดำเนินมาแล้ว
ส่วนธูปที่เหลือคือช่วงเวลาที่เหลืออยู่
ในที่สุดเมื่อถึงเวลาธูปก็จะดับลงเหมือนชีวิตที่ต้องสิ้นสุด
ดังนั้นขณะอยู่หน้าหีบศพ ก็ให้ระลึกไว้ 3 อย่าง คือ :
1. เอวัง ภาวี หมายถึง ต่อไปเราก็ต้องเป็นแบบนี้
2. เอวัง ธัมโม สิ่งนี้คือธรรมชาติ
3. เอวัง อะนาติโต ทุกชีวิตไม่สามารถหนีสิ่งนี้พ้น
อีกเรื่อง คืองานศพจะเรียกว่างานบำเพ็ญกุศลไม่ใช่งานบุญเพราะการทำบุญนั้น
พอทำแล้วใจพองโต เช่น ทำดี ได้บุญ ใจเป็นสุข แต่ทำกุศลนั้น ทำแล้วได้ปัญญา
การจัดงานศพจึงเป็นงานบำเพ็ญกุศล คือ สร้างเสริมปัญญาให้แก่ ผู้มาร่วมงาน ทำให้รู้ว่า
* ชีวิตมีเท่านี้
* ช่วงชีวิตก็แค่นี้
* สุดท้ายของชีวิตก็แบบนี้
ดังนั้นใครที่โกรธกัน ใครที่เกลียดกัน ใครที่มัวแต่คิดจะฆ่าฟันทำลายล้าง น่าจะลองทบทวนใหม่
ใครที่ซึมเศร้า ใครกำลังคิดสั้น ใครท้อแท้-หดหู่ ก็น่าจะทบทวนตัวเองอีกครั้ง
ชีวิตนั้นแสนสั้น การอยู่ร่วมกันของคนแต่ละคนก็แสนสั้น หากมัวแต่เกลียดกัน โกรธกัน ฆ่าฟันทำลายล้าง
กัน ทำให้จิตใจมัวหมอง เท่ากับว่ากำลังทำให้ชีวิตเสียโอกาส ที่จะได้ทำบุญคือ ทำแล้วฟูใจ พอใจ
สบายใจ และเสียโอกาสที่จะได้กุศล คือ ได้วิชา ได้ความรู้ ได้ปัญญา
เวลาของชีวิตเราเหลือ ไม่เยอะนักเหมือน ธูป ส่วนที่เหลือ
คำสอนของ: หลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น